เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า พัฒนา “เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง” ส่งมอบเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าดิบชื้นและประวัติศาสตร์ในภาคใต้

ข่าวสารและความเคลื่อนไหว

เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า พัฒนา “เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง” ส่งมอบเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าดิบชื้นและประวัติศาสตร์ในภาคใต้

16 มิถุนายน 2565

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า พัฒนาและส่งมอบ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง” อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช พร้อมระบบสื่อความหมายธรรมชาติ และแอปพลิเคชัน “กรุงชิง Virtual Nature Trail 360 องศา” แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าดิบชื้นและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของภาคใต้ สำหรับนักนิยมธรรมชาติ นักวิจัย เยาวชน และนักท่องเที่ยว โดยพิธีส่งมอบเส้นทางฯ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 โดยมีนายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมเป็นสักขีพยาน

พิธีส่งมอบเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า เปิดเผยว่า “เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการให้ความสำคัญต่อการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและใส่ใจต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลากว่า 30 ปี ด้วยความเชื่อที่ว่า “ต้นทางที่ดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี” โดยดำเนินภารกิจอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและดูแลป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศให้เกิดความยั่งยืน ผ่านการก่อตั้งและสนับสนุนมูลนิธิไทยรักษ์ป่า มาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เป็น “ห้องเรียนธรรมชาติ” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ เป็นหนึ่งในภารกิจที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่าดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายให้เยาวชนและนักท่องเที่ยวมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ ตระหนักถึงคุณค่าของป่าต้นน้ำซึ่งเป็นต้นทางหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต การอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างเกื้อกูล และร่วมรักษาไว้เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป”

เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่าร่วมพัฒนาและปรับปรุงครั้งนี้ มีความสำคัญในฐานะเป็นป่าต้นน้ำของภาคใต้ เส้นทางฯ มีระยะทางไป-กลับรวมประมาณ 8 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นป่าดงดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ของภาคใต้ มีความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์อย่างโดดเด่น เช่น “มดยักษ์ปักษ์ใต้” ซึ่งเป็นมดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเป็นแหล่งรวมนกสำคัญและหายากของประเทศไทย จนขึ้นชื่อว่าเป็น “สวรรค์ของนักดูนก” สำหรับ “น้ำตกกรุงชิง” ซึ่งอยู่ปลายสุดของเส้นทางฯ มีความงดงามจนเคยได้รับการตีพิมพ์ภาพลงในธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะเป็นอดีตฐานที่มั่นสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์

คุณเทพรัตน์ นำชมน้ำตกกรุงชิง

มดยักษ์ปักษ์ใต้

นางสาวมานนีย์ พาทยาชีวะ เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เปิดเผยว่า “จากความสำคัญของพื้นที่ประกอบกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติเดิมได้เสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา มูลนิธิไทยรักษ์ป่าจึงเข้ามาพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิงเพื่อให้มีความแข็งแรง ปลอดภัย และกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติเดิม  ตั้งแต่ปี 2561 จนแล้วเสร็จในปี 2565 โดยการดำเนินงานได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ด้วยการจัดเวทีระดมความคิดเห็นจนนำไปสู่การปรับปรุงเส้นทางฯ ในจุดที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น เพื่อลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่และเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติให้น้อยที่สุด ตลอดจนมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการดูแลรักษาการใช้ประโยชน์เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง” เพื่อดูแลการใช้ประโยชน์ของเส้นทางฯ ในระยะยาว ตามแนวทางการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน”

“ในขณะเดียวกัน มูลนิธิฯ ยังได้พัฒนาและติดตั้งป้ายสื่อความหมายตลอดเส้นทางฯ จำนวน 13 จุด เพื่อเป็นสื่อกลางถ่ายทอดความรู้และคุณค่าทางธรรมชาติแก่ผู้มาเยือน รวมถึงพัฒนาแอปพลิเคชัน “กรุงชิง Virtual Nature Trail 360 องศา” เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสามารถเข้าถึงธรรมชาติในรูปแบบ 360 องศา ผ่านระบบออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา นอกจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง อุทยานแห่งชาติเขาหลวงแล้ว ปัจจุบันมูลนิธิฯ ยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เพื่อสานต่อภารกิจการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อนุรักษ์ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อย่างต่อเนื่อง” นางสาวมานนีย์ กล่าวสรุป

ป้ายสื่อความหมายในเส้นทางฯ

ดร. ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ดังเช่นความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯ เอ็กโก กรุ๊ป และมูลนิธิไทยรักษ์ป่าที่ได้ร่วมมือกันพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติต่าง ๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับที่ 4 ระหว่างปี 2564-2569 ซึ่งมูลนิธิไทยรักษ์ป่าถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริม และขับเคลื่อนให้ภารกิจของกรมอุทยานฯ สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น”

“ความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯ เอ็กโก กรุ๊ป และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ เพื่อดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิงที่ปรับปรุงใหม่นี้ มีศักยภาพในการถ่ายทอดเรื่องราวความสำคัญและเสน่ห์ของผืนป่าภาคใต้ให้กับนักท่องเที่ยวและผู้คนในวงกว้าง ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับนักนิยมธรรมชาติ นักวิจัย และนักดูนก ซึ่งจะช่วยพัฒนางานอนุรักษ์ในเชิงลึกและในระยะยาวต่อไป” นายทรงธรรม กล่าว

เกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ป่าต้นน้ำของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า
นอกจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง อุทยานแห่งชาติเขาหลวง เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ยังได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2550 บุกเบิกและพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ปี 2558 เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกมณฑาธาร อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ปี 2561 เส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ปี 2562 เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ป่าน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ปี 2564 เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และขยายไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช ในปี 2560 พัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกพรหมโลก กะโรม และอ้ายเขียว อุทยานแห่งชาติเขาหลวง