เอ็กโก กรุ๊ป เผยกำไรปี 59 พุ่งกว่า 9 พันล้านบาท ทุ่มงบลงทุน 30,000 ล้านบาท เดินหน้า 7 โครงการ ปี 60
บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เผยกำไรจากการดำเนินงานปี 2559 ทะยานแตะ 9,157 ล้านบาท พร้อมเปิดแผนธุรกิจปี 2560 เดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมงบลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท สำหรับ 7 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ พร้อมตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2569
ปี 59 ผลการดำเนินงานเติบโตแข็งแกร่ง กำไรกว่า 9,000 ล้านบาท
ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จตามเป้า ขยายการลงทุนต่างประเทศต่อเนื่อง
นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยผลการดำเนินงานในปี 2559 ว่า “เอ็กโก กรุ๊ป มีสินทรัพย์รวมจำนวน 197,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 จำนวน 17,443 ล้านบาท และมีกำไรก่อนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX) ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี การรับรู้รายได้แบบสัญญาเช่าและสัญญาสัมปทาน และการด้อยค่า จำนวน 9,157 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 1,237 ล้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ในขณะที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 8,321 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 93 โดยคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้เสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 ให้จ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังของปี 2559 ในอัตราหุ้นละ 3.25 บาท ซึ่งหากได้รับการอนุมัติ เท่ากับบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลตลอดปี 2559 ในอัตราหุ้นละ 6.50 บาท”
สำหรับผลการดำเนินงานที่โดดเด่นในปี 2559 ประกอบด้วยการบริหารโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างให้ แล้วเสร็จและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ตามกำหนด จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 930 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม จังหวัดชัยภูมิ กำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 80 เมกะวัตต์ และการขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ การซื้อหุ้นเพิ่มร้อยละ 8.05 ในบริษัท มาซินลอค พาวเวอร์ พาร์ทเนอร์ จำกัด ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นผลให้เอ็กโก กรุ๊ป มีสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าถ่านหิน “มาซินลอค” ร้อยละ 49 ในขณะที่บริษัทฯ รับรู้รายได้เพิ่มจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ “สตาร์ เอนเนอร์ยี่” ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งสูงขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 40 และการซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ “ซาลัก” และ “ดาราจัท” ประเทศอินโดนีเซีย โดยการถือหุ้นโดยทางอ้อมร้อยละ 20.07
เปิดแผนปี 2560 มุ่งขยายธุรกิจไฟฟ้าต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีฐานเดิมอยู่แล้ว
เตรียมงบลงทุนปี 60 กว่า 30,000 ล้านบาท สำหรับ 7 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจปี 2560 เอ็กโก กรุ๊ป มุ่งเดินหน้าสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน โดยยังคงเน้นการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญ เพื่อรักษาอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) อย่างน้อยร้อยละ 10 ด้วยกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน ที่ได้ดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ได้แก่ การบริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การบริหารจัดการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดและภายใต้งบประมาณที่วางไว้ และการแสวงหาโอกาสในการลงทุนใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรการในการคัดเลือกโครงการที่จะลงทุนอย่างรอบคอบและวางแผนการบริหารจัดการสินทรัพย์ในต่างประเทศอย่างเหมาะสมกับนโยบายเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศที่เข้าไปลงทุน
“เรายังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจไฟฟ้าซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของเอ็กโก กรุ๊ป เนื่องจากยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยจะมุ่งเน้นขยายธุรกิจในต่างประเทศที่มีฐานอยู่แล้วและสามารถขยายตลาดได้อีก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดหลัก รวมทั้ง สปป.ลาว และอินโดนีเซีย รวมทั้งแสวงหาโอกาสขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม และเมียนมา เป็นต้น” นายชนินทร์กล่าว
ในปีนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ได้เตรียมงบลงทุนไว้กว่า 30,000 ล้านบาท สำหรับ 7 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งในและต่างประเทศ แบ่งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 โครงการ ได้แก่ โครงการ SPP ในประเทศ 3 โครงการ โรงไฟฟ้า “ไซยะบุรี” ใน สปป.ลาว โรงไฟฟ้า “ซานบัวนาเวนทูรา” และโรงไฟฟ้า “มาซินลอค หน่วยที่ 3” ในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จและทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2560-2562 รวมทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างการโอนหุ้น 1 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ “ซาลัก” และ “ดาราจัท” ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ซึ่งงบลงทุนดังกล่าวยังไม่นับรวมโครงการใหม่ที่เตรียมเข้าไปลงทุน ทั้งการซื้อโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว เพื่อรับรู้รายได้ทันที และโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในต่างประเทศอีก 4 โครงการ ได้แก่ สปป.ลาว มี 2 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ “ปากแบง” ซึ่งอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ “น้ำเทิน 1” ซึ่งอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว อินโดนีเซีย มี 1 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ “สตาร์ เอนเนอร์ยี่ ส่วนขยาย (หน่วยที่ 3 และ 4)” ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาค่าไฟฟ้ากับการไฟฟ้าอินโดนีเซีย และเวียดนาม มี 1 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน “กวางจิ” ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเสนอขายไฟฟ้ากับทางรัฐบาลเวียดนาม
“สำหรับประเทศไทย บริษัทฯ ก็เล็งเห็นโอกาสการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าเช่นกัน โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดเล็กมาก (SPP / VSPP) ประเภทพลังงานหมุนเวียน ซึ่งภาครัฐส่งเสริมให้เอกชนเข้าดำเนินการ รวมทั้งการต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ประเภทโคเจนเนอเรชั่น ของเอ็กโก กรุ๊ป กับ กฟผ.” นายชนินทร์กล่าวเสริม
ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 30% ภายในปี 2569
“ในฐานะที่เป็นองค์กรหนึ่งของสังคม เอ็กโก กรุ๊ป เห็นความสำคัญที่จะต้องร่วมกับทุกภาคส่วนในการสร้างสรรค์พลังงานสะอาด เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน บริษัทฯ จึงตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 30% ภายในปี 2569 โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 16 โรง คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายและตามสัดส่วนการถือหุ้น 751 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของกำลังการผลิตทั้งหมดของเอ็กโก กรุ๊ป” นายชนินทร์กล่าวสรุป
ล่าสุด เอ็กโก กรุ๊ป ยังได้รับการประกาศให้เป็น “หุ้นยั่งยืน” หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเอ็กโก กรุ๊ป เป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG-Environment, Social, Governance)
เกี่ยวกับเอ็กโก กรุ๊ป
ณ เดือนธันวาคม 2559 เอ็กโก กรุ๊ป มีโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 24 โรง คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายและตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 4,122 เมกะวัตต์ ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย มีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 6 โครงการ คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายและตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 869 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการโอนหุ้น จำนวน 1 โครงการ คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายและตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 128 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้า และโครงการต่างๆ ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลากหลายประเภท ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ชีวมวล ขยะ พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อนใต้พิภพ