เอ็กโก กรุ๊ป ลุยขยายพอร์ตธุรกิจไฟฟ้าต่างประเทศต่อเนื่อง เผยกำไรครึ่งปีแรกโตกว่า 4,200 ล้านบาท
นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2559 เอ็กโก กรุ๊ป มีกำไรก่อนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX) ภาษีเงินได้รอการ ตัดบัญชี การรับรู้รายได้แบบสัญญาเช่าและสัญญาสัมปทาน และการด้อยค่า จำนวน 4,299 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 400 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2559 ในอัตราหุ้นละ 3.25 บาท
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 เอ็กโก กรุ๊ป มีความก้าวหน้าของการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริหารจัดการโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนด และการลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว เพื่อให้บริษัทฯ รับรู้รายได้ทันที โดยโรงไฟฟ้า “ขนอม หน่วยที่ 4” ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามกำหนด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ทำให้สามารถรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 3 รวมทั้งยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าในภาคใต้และระบบไฟฟ้าของประเทศด้วย นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ซื้อหุ้นเพิ่มร้อยละ 8.05 ในบริษัท มาซินลอค พาวเวอร์ พาร์ทเนอร์ จำกัด ในประเทศฟิลิปปินส์ เป็นผลให้เอ็กโก กรุ๊ป มีสัดส่วน การถือหุ้นในโรงไฟฟ้ามาซินลอคร้อยละ 49 พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังรับรู้รายได้เพิ่มจากการปรับอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ “สตาร์ เอนเนอร์ยี่” อินโดนีเซีย ซึ่งสูงขึ้นโดยเฉลี่ย ร้อยละ 40 ด้วย
สำหรับการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 เอ็กโก กรุ๊ป ยังคงมุ่งเน้นการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) อย่างน้อยร้อยละ 10 ตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ ได้แก่ 1) การบริหารจัดการโรงไฟฟ้าให้เดินเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และการบริหารจัดการโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนงานและงบประมาณที่วางไว้ 2) การลงทุนในโครงการ Greenfield และการพัฒนาโครงการใหม่ในพื้นที่โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อสร้างรายได้ระยะยาว และ 3) การซื้อสินทรัพย์ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว เพื่อให้บริษัทฯ รับรู้รายได้ทันที
“เรายังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจไฟฟ้าซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของเอ็กโก กรุ๊ป เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสเติบโตได้อีกมาก แต่จะมุ่งเน้นขยายธุรกิจในต่างประเทศที่มีฐานอยู่แล้วและสามารถขยายตลาดได้อีก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดหลัก รวมทั้ง สปป.ลาว และอินโดนีเซีย โดยปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป มีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วในฟิลิปปินส์ 2 โรง และโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 โครงการ คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายและตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมกว่า 1,100 เมกะวัตต์ สำหรับประเทศที่เริ่มเข้าไปลงทุน ได้แก่ ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศอาเซียนอื่นๆ เช่น เวียดนาม และเมียนมา จะพิจารณาโอกาสการลงทุนโดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ” นายชนินทร์กล่าว
นอกจาก 7 โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2559-2562 เอ็กโก กรุ๊ป ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้
ในต่างประเทศอีก 5 โครงการ ได้แก่ สปป.ลาว มี 2 โครงการ คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ “ปากแบง” กำลังการผลิต 912 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ “น้ำเทิน 1” กำลังการผลิต 650 เมกะวัตต์ อินโดนีเซีย มี 1 โครงการ คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ “สตาร์ เอนเนอร์ยี่ ส่วนขยาย (หน่วยที่ 3 และ 4)” กำลังการผลิตหน่วยละ 60 เมกะวัตต์ เวียดนาม มี 1 โครงการ คือ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน “กวางจิ” กำลังการผลิต 1,220 เมกะวัตต์ และเมียนมา มี 1 โครงการ คือ โครงการโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมทวาย
“สำหรับประเทศไทย บริษัทฯ ยังแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าเช่นกัน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ประเภทพลังงานหมุนเวียน ซึ่งภาครัฐส่งเสริมให้เอกชนเข้าดำเนินการ และโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP) ประเภทโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งสามารถต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ได้” นายชนินทร์กล่าวสรุป
เกี่ยวกับเอ็กโก กรุ๊ป
ณ เดือนสิงหาคม 2559 เอ็กโก กรุ๊ป มีโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 23 โรง คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายและตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 4,049 เมกะวัตต์ ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 7 โครงการ คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายและตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 941 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าและโครงการต่างๆ ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลากหลายประเภท ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ชีวมวล ขยะ พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อนใต้พิภพ