เอ็กโก กรุ๊ป ผนึกกำลัง สนพ. และ สพฐ. สร้างเครือข่ายต้นแบบ “โรงเรียนและครู” ส่งเสริมการเรียนรู้พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน

ข่าวสารและความเคลื่อนไหว

เอ็กโก กรุ๊ป ผนึกกำลัง สนพ. และ สพฐ. สร้างเครือข่ายต้นแบบ “โรงเรียนและครู” ส่งเสริมการเรียนรู้พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน

4 พฤษภาคม 2559

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ผนึกกำลังสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ สร้างเครือข่ายต้นแบบ “โรงเรียนและครู” มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้านและยั่งยืน โดยจัดพิธีมอบรางวัลโครงการ “พลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง” เชิดชูและยกย่อง 5 โรงเรียนต้นแบบพลังงานเพื่อชีวิต และ 18 ครูต้นแบบ ต้นทางความรู้ ซึ่งคัดเลือกจาก 60 โรงเรียนทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่มีผลงานเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องตลอด 3 ปีของการเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งสามารถบูรณาการการเรียนการสอนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ มีการเชื่อมโยงองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และงานด้านวิชาการได้อย่างกลมกลืน จนนำไปสู่การปฏิบัติเป็นวิถีชีวิตของโรงเรียน เพื่อปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชน

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวแสดงความยินดีในฐานะประธานในพิธีมอบรางวัลฯ ว่า “ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการดำเนินโครงการพลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบันและแนวทางการทำงานแบบประชารัฐ ที่บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ด้วยการร่วมกันเสริมศักยภาพและเชิดชู “โรงเรียน” และ “ครู” ซึ่งเป็นต้นทางสำคัญด้านการศึกษา ตลอดจนน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหัวใจสำคัญในการปลูกจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “เยาวชน” ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญของประเทศต่อไปในอนาคต ผลงานที่ปรากฏเป็นรูปธรรมของโรงเรียนและครูในวันนี้ นอกจากจะเป็น “แบบอย่าง” ที่ดีแล้ว ยังสามารถเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้ผู้อื่นเชื่อมั่น ศรัทธา และดำเนินงานตาม ตลอดจนเป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่ความรู้สู่ “ชุมชนในพื้นที่” เพื่อนำไปสู่การร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์ เพื่อความยั่งยืนของสังคมโดยรวม”

นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ แห่งแรกของไทย เอ็กโก กรุ๊ป มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศ ควบคู่ไปกับการร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมให้อุดมสมบูรณ์ และการร่วมสร้างชุมชนและสังคมให้เข้มแข็ง

การดำเนินงานโครงการนี้ มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ของแต่ละหน่วยงานไปสู่ “โรงเรียน” และ “ครู” ซึ่งเป็นต้นทางการเรียนรู้ของสังคมไทย เพื่อบ่มเพาะจิตสำนึกที่ดีให้กับ “เยาวชน” และขยายผลไปสู่ “ชุมชนในแต่ละพื้นที่” โดยมุ่งหวังให้โรงเรียน ครู เยาวชน และชุมชน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายในระดับท้องถิ่น เพื่อเป็นรากฐานของสังคมที่เข้มแข็งต่อไป

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา “โรงเรียน” และ “ครู” ที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยใช้ 3 เครื่องมือสำคัญของโครงการฯ ช่วยขับเคลื่อนแนวคิดไปสู่ผลงานการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ หลักการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach – WSA) แผนที่วิถีพอเพียง (Sufficiency Map – S-Map) และการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment – LCA) ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า จิตสำนึกอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นได้จากการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในโรงเรียน นำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้พอเพียงและสอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น ซึ่งนับเป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณภาพและยั่งยืน

“สำหรับแนวทางการต่อยอดความสำเร็จของโครงการพลังงานเพื่อชีวิตฯ ในอนาคต บริษัทฯ จะขยายผลไปยังโรงเรียนที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าในกลุ่มเอ็กโก โดยใช้รูปแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่สรุปได้จากการดำเนินงานโครงการนี้ เริ่มจากการสร้างความตระหนักในปัญหา การส่งเสริมให้เรียนรู้จากชีวิตจริงตามบริบทท้องถิ่น และ สนับสนุนให้เยาวชนคิดวิเคราะห์และได้ลงมือปฎิบัติ ตลอดจนให้โรงไฟฟ้าในกลุ่มเอ็กโกเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้า ที่เยาวชนในชุมชนสามารถมาเรียนรู้และสัมผัสได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ จะเผยแพร่เครื่องมือการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ในโครงการพลังงานเพื่อชีวิตฯ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครู โรงเรียน และผู้สนใจต่อไป” นายชนินทร์กล่าวสรุป

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะองค์กรร่วมจัดกล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ทั้ง 3 หน่วยงานได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน โดยมี “โรงเรียน” และ “ครู” ที่เข้าร่วมโครงการฯ ช่วยกันสร้างสรรค์การจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย ทำให้เยาวชนเกิดความเข้าใจในเรื่องพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถขยายผลต่อไปในวงกว้าง ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสื่อสารด้านพลังงานของประเทศ และเป็นรากฐานสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานต่อไป”

ในขณะที่ นายสนิท แย้มเกสร ที่ปรึกษาด้านนดยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “กระบวนการดำเนินงานของโครงการฯ สามารถเชื่อมโยงโรงเรียน ครู ครอบครัว และชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โดยส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้จากสถานการณ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เพื่อให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง รู้จักคิด วิเคราะห์ และสืบค้นข้อเท็จจริงของสิ่งต่างๆ สนับสนุนให้ทำความรู้จักและเข้าใจท้องถิ่นของตนเองอย่างลึกซึ้ง ตลอดจนเปิดโอกาสให้ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อสรุปองค์ความรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์ตรง สอดคล้องแนวทางการจัดการศึกษาในขณะนี้”

สำหรับโครงการ “พลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง” ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงเดือนธันวาคม 2558 รวมระยะเวลา 3 ปี โดยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในเชิงปริมาณ ดังนี้
1) มีโรงเรียนต้นทางจากทั่วประเทศ 60 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ และให้ความสำคัญในการนำเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมมา
บูรณาการให้เข้ากับกระบวนการเรียนการสอนของโรงเรียนทั้งระบบ
2) เกิดเครือข่ายครู 806 คน ที่มีการจัดการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โดยมีโรงไฟฟ้าในกลุ่มเอ็กโกเป็นหนึ่งใน
แหล่งเรียนรู้
3) มีการสร้างสรรค์ 243 แผนการเรียนการสอนที่บูรณาการแนวคิด “พลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อน ด้วย วิถีพอเพียง” ใน 8 กลุ่ม
สาระการเรียนรู้ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การงานอาชีพและเทคโนโลยี สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ภาษาไทย
ภาษาต่างประเทศ ศิลปะ รวมทั้งสุขศึกษาและพลศึกษา
4) เปิดวงจรความคิดด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้านให้แก่เยาวชน 50,580 คน ให้มีความเข้าใจ รู้จักคิดวิเคราะห์ เกิดความ
ตระหนัก รู้คุณค่าและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ตลอดจนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีส่วนร่วม
พัฒนาชุมชนและท้องถิ่นของตนเอง

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้พิจารณามอบรางวัลโรงเรียนต้นแบบพลังงานเพื่อชีวิตฯ ให้แก่โรงเรียนที่มุ่งมั่นสนับสนุนให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินงานทั้งระบบโรงเรียน ตลอด 3 ปีของการเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 5 โรงเรียน ดังนี้
ประเภทประถมศึกษา ระดับดีเยี่ยม ได้แก่ โรงเรียนบ้านหว้า จ.ขอนแก่น
ระดับดีเด่น ได้แก่ โรงเรียนบ้านสันป่าสัก จ.เชียงใหม่
ประเภทมัธยมศึกษา ระดับดีเยี่ยม ได้แก่ โรงเรียนแม่สะเรียง “บริพัตรศึกษา” จ.แม่ฮ่องสอน
ระดับดีเด่น ได้แก่ โรงเรียนเทพสถิตวิทยา จ.ชัยภูมิ และโรงเรียนบุญเรืองวิทยาคม จ.เชียงราย

พร้อมกันนี้ ยังได้มอบรางวัลครูต้นแบบ ต้นทางความรู้ ให้แก่ครูจำนวน 18 คน ซึ่งพิจารณาสรรหาครูดีเด่นจาก 60 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่มีผลงานการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด “พลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง” อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องตลอดระยะเวลาของโครงการไม่น้อยกว่า 2 ปีด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ “พลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง” สามารถดูได้ที่ www.s-school.egco.com