เอ็กโก กรุ๊ป จับมือ สนพ. และ สพฐ. มอบรางวัลโรงเรียนดีเด่น เดินหน้าส่งเสริมการเรียนรู้พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน
บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ผนึกกำลัง 2 หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ สานต่อการเผยแพร่องค์ความรู้และส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม จัดพิธีมอบรางวัลโรงเรียนดีเด่น ประจำปี 2557 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ภายใต้โครงการ “พลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง” ให้ 7 โรงเรียนดีเด่น ที่สามารถบูรณาการการเรียนการสอนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และงานด้านวิชาการได้อย่างกลมกลืน จนนำไปสู่การปฏิบัติเป็นวิถีชีวิตของโรงเรียน เพื่อปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชน
ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน กล่าวในฐานะประธานในพิธีมอบรางวัลฯ ว่า “โครงการพลังงานเพื่อชีวิตฯ ถือเป็นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ในการใช้ศักยภาพและความรู้ความสามารถของแต่ละหน่วยงานให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งมีเป้าหมายการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล นั่นคือ การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานให้แก่ประชาชนและการส่งเสริมให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน ผลงานของ 7 โรงเรียนดีเด่นถือเป็น “แบบอย่าง” และ “แรงบันดาลใจ” ให้โรงเรียนอื่นสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในโรงเรียนของตนเอง รวมทั้งโรงเรียนยังสามารถเผยแพร่ความรู้สู่ “ชุมชน” ในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การขยายความร่วมมือ เพื่อความยั่งยืนของสังคมโดยรวมต่อไป"
นายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า ด้วยวิสัยทัศน์ในการ “เป็นบริษัทไทยชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าอย่างยั่งยืนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยความใส่ใจที่จะธำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม” เอ็กโก กรุ๊ป มีเจตนารมณ์ที่จะร่วมสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศ ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมให้อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนร่วมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสังคม บนพื้นฐานของศักยภาพและความสามารถที่องค์กรมีอยู่
“เอ็กโก กรุ๊ป และ 2 หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สนพ. และ สพฐ. จึงร่วมกันส่งเสริมการเรียนรู้พลังงานและสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ “พลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง” อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ด้วยการทำงานร่วมกับ “ครู” และ “โรงเรียน” ซึ่งเป็นต้นทางในการให้การศึกษา โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการบูรณาการการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมเข้าสู่การบริหารจัดการโรงเรียน โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ผลงานของโรงเรียนเป็นรูปธรรมของการเชื่อมโยงองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และงานด้านวิชาการไว้ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน จนนำไปสู่การปฏิบัติเป็นวิถีชีวิตของโรงเรียน และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเยาวชน ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนในการพัฒนาชุมชนของตนเอง”
รางวัลโรงเรียนดีเด่น ประจำปี 2557 พิจารณาคัดเลือกจากโรงเรียนที่มีการบูรณาการการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมเข้าสู่โรงเรียนได้อย่างรอบด้าน โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานในการบริหารจัดการโรงเรียน การบูรณาการในกระบวนการจัดการเรียนรู้ และการเชื่อมโยงกับบริบทท้องถิ่น สำหรับโรงเรียนที่ได้รับรางวัลโรงเรียนดีเด่นประจำปี 2557 มีจำนวน 7 โรงเรียน ได้แก่
ระดับประถมศึกษา 1. โรงเรียนบ้านหว้า จ.ขอนแก่น
ระดับมัธยมศึกษา 2. โรงเรียนกัลยาณวัตร จ.ขอนแก่น
3. โรงเรียนดอนพุดวิทยา จ.สระบุรี
4. โรงเรียนบุญเรืองวิทยคม จ.เชียงราย
5. โรงเรียนมัธยมวัดดอนตูม จ.ราชบุรี
6. โรงเรียนแม่ตื่นวิทยาคม จ.เชียงใหม่
7. โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จ.บุรีรัมย์
"การให้รางวัลแก่ 7 โรงเรียนในครั้งนี้ เพื่อเชิดชูและยกย่องโรงเรียนที่มีผลการดำเนินงานต่อเนื่องและชัดเจนตลอดทั้งปีที่ผ่านมา สำหรับรางวัลที่มอบให้กับ 7 โรงเรียนที่มีผลงานดีเด่น บริษัทฯ จะสนับสนุนแผงโซลาร์เซลล์ขนาดประมาณ 3.5 กิโลวัตต์ เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และส่งเสริมให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชนต่อไป” นายสหัส กล่าวเสริม
นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “สนพ. มีพันธกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ความร่วมมือในโครงการนี้จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจดังกล่าว สนพ. พร้อมจะให้การสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการเกี่ยวกับพลังงาน รวมทั้งสถานการณ์พลังงานแก่ครูและโรงเรียนตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ นอกจากนี้ การสนับสนุนจากเอ็กโก กรุ๊ป ในฐานะบริษัทเอกชนชั้นนำในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ที่นำศักยภาพและความรู้ความสามารถขององค์กรมาถ่ายทอดให้แก่โรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตไฟฟ้าสำหรับชุมชนใกล้เคียง นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสื่อสารข้อมูลด้านพลังงานของประเทศต่อไป” นายชวลิต กล่าวเสริม
นายพิธาน พื้นทอง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “สพฐ. เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ประชากรวัยเรียนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้คู่คุณธรรม โครงการนี้ถือเป็นการสนับสนุนภารกิจของ สพฐ. ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจถึงคุณค่าของพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติผ่านการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน โดยการเปิดโอกาสให้ “ครู” และ “โรงเรียน” ได้ใช้พลังของการเรียนรู้ในแต่ละท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนงานไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นงานที่ท้าทาย นอกจากนี้ การยกย่องและเผยแพร่ผลงานที่โดดเด่นของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นประโยชน์และแบบอย่างให้โรงเรียนอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในโรงเรียนของตนเองต่อไป”
เกี่ยวกับโครงการ “พลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง” โครงการ “พลังงานเพื่อชีวิต ลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง” จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับ “ครู” และ “โรงเรียน” ซึ่งเป็นต้นทางในการให้การศึกษา โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2556-2558) โดยมีโรงเรียนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเข้าร่วมโครงการ 61 โรงเรียน สำหรับการมอบรางวัลให้โรงเรียนดีเด่นตลอด 3 ปีของการดำเนินโครงการ จะคัดเลือกเพียง 20 โรงเรียน ได้แก่ ปี 2556 จำนวน 6 โรงเรียน ปี 2557 และ 2558 ปีละจำนวน 7 โรงเรียน
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างความรู้ความเข้าใจในการเรียนรู้พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน ผ่านการเรียนรู้ที่มาและคุณค่าของ “ไฟฟ้า” ซึ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต 2) สนับสนุนให้เกิด “โรงเรียนต้นแบบ” ที่มีการส่งเสริมการเรียนรู้พลังงานและสิ่งแวดล้อมทั้งระบบโรงเรียน และ “ครูต้นแบบ” ที่บูรณาการเรื่องการเรียนรู้พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมโยงกับบริบทท้องถิ่น และปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้เยาวชน 3) ส่งเสริมให้เกิดเวทีแสดงความรู้ความสามารถของ “เด็กและเยาวชน” ในการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม